ตะเกียงเก้าดวง ปักเต๋า

ตะเกียง 7 ดาวไถ (ตะเกียงเก้าดวง) ตะเกียงบูชาปักเต๋า ต่ออายุและป้องกันภยันตราย ตามคติคัมภีร์เต๋าและพุทธมหายานเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ไทยเชื้อสายจีน คือตะเกียง 7 ดาว 9 ดวง ที่ใช้จุดในพิธีกินเจตลอด 7 วัน 7 คืน โดยไม่ให้ดับ เพื่อบูชาดาวปั๊กเต้าทั้ง 7 ที่เป็นเทพผู้รักษาดวงชะตา ทั้งภัยพิบัติ อันตรายโรคร้ายจะดับสูญหากบูชาครบ 7 วัน 7 คืน จะต่อชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป แม้จะถึงชะตาคาดแล้วก็ตาม หมู่ดาวปั้กเต้าทั้งเจ็ดจึงเข้าด้วยความเชื่อนี้และถูกจัดให้เป็นเทพผู้กำหนดอาสัญวาระของบุคคล ในชาวบ้านที่ป่วยหนักใกล้ตายหมดทางเยี้ยวยารักษา ชาวบ้านจะทำการจุดตะเกียง 7 ดวง เพื่อบูชาและขอขมาแก่เทพทั้ง 7 แทนผู้ป่วยหรือผู้ป่วยจะมาตั้งพิธีเลยก็ได้ หากทำครบ 7 วัน 7 คืน จะให้ผลสัมฤทธิ์เพื่อขอต่ออายุขัยของผู้ป่วยหรือตนเองให้อยู่ต่อ
เช่นในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กครั้งที่ ขงเบ้ง ได้ป่วยหนัก และทำนายเสี่ยงทายชะตาตนเองว่าจะตายแล้ว โดยดาวที่ส่องสว่างเหนือต้นสนนั้นมอดอับแสงลง ขงเบ้งจึงจุดตะเกียง เพื่อเป็นการบูชาปั้กเต้าและเสี่ยงทาย หากแต่ผลที่ได้ไม่สัมฤทธิ์ตามประสงค์ ตามคำเสนอของเกียงอุย
“ ครั้นเวลาค่ำ จูกัดเหลียงอุตส่าห์เดินออกไปดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัว มันเศร้าหมองกว่าแต่ก่อน ก็ยิ่งตกใจเป็นอันมาก จึงพาเกียงอุยเข้าไปที่ข้างในแล้วว่า "ชีวิตเรานี้ เห็นทีจะตายในวันพรุ่งนี้แล้ว" เกียงอุยได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงถามว่า "เหตุใดมหาอุปราชจึงว่า ฉะนี้" จูกัดเหลียงจึงว่า "เราพิเคราะห์ดูอากาศ เห็นดาวสำหรับตัวเราวิปริต จึงรู้ว่าสิ้นอายุแล้ว" เกียงอุยเสนอให้จูกัดเหลียงทำพิธีต่ออายุ ด้วยการตั้งโต๊ะบูชาเทพยดาและจุดโคมเสี่ยงทายอายุ ถ้าไฟโคมยังสว่างไสวตลอดพิธีจะมีอายุยืนยาวได้อีกสิบสองปี แต่ถ้าไฟโคมดับก่อนเสร็จพิธี ชีวิตก็จะสิ้นสุด จูกัดเหลียงคิดถึงภาระหน้าที่และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเล่าปี่ว่าจะรวบรวมแผ่นดินถวายคืนสู่ราชวงศ์ฮั่น จำต้องทำพิธีต่ออายุแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้น เมื่อนายพลอุยเอี๋ยนผลีผลามเข้ากระโจมเพื่อรายงานว่าสุมาอี้ส่งทัพมาท้ารบ ได้เตะเอาโคมเสี่ยงทายล้มไฟโคมดับ"”
เมื่อขงเบ็งลาโลกไปแล้ว ด้วยกลอุบายจุดไฟเหนือต้นสนให้กองทัพของสุมาอี้เข้าใจว่า ดาวประจำตัวของขงเบ้งยังส่องสว่างอยู่ เป็นกลอุบายว่า ขงเบ้งยังไม่ได้ตาย
7 ดาวไถ คือ กลุ่มดาว 7 ดวง ชาวไทยเห็นเป็นรูปคันไถ จึงเรียกว่า ดาวไถ และเป็นส่วนหนึ่งของ ดาวเต่า และชาวตะวันตกเรียกว่า Orion ซึ่งแปลว่า นายพราน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งของเข็มขัดนายพราน และยังมีอีกหลายชื่อชื่อ คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ กลุ่มดาวจระเข้(ในบทสักวาดาวจระเข้) ดาวหัวช้าง(ชาวลาว)
ในส่วนของเทศกาลกินเจ จะทำเป็นโคมระย้า โดยมีประธานไล่เรียงลำดับลงมา เมื่อถึงเวลาจุดตะเกียงก็อัญเชิญขึ้นไปบนเสาไม้ไผ่เตรียมตะเกียงให้มีไส้พอจะเผาไหม้ได้ 7 วัน 7 คืน และเตรียมน้ำมันพืชหรือน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ให้พอเจ็ดวัน (เผื่อเยอะ เหลือดีกว่าขาด ถ้าขาดขึ้นมาก็เรื่องของความเป็นความตายจะขาดไม่ได้) โดยไม่ให้ดับ เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี ให้จุดตะเกียงดวงแรกไล่ลงมาจนถึงดวงที่ 9 ตามลำดับ
ทะนานประทีป หรือ เต้าเต็ง เป็นเครื่องมงคล ประกอบพิธีบูชาชนิดหนึ่งของจีน สิ่งของที่นำมาจัดลงในทะนานสื่อความหมายเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล จะประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ ดังนี้
1.บี๋ต้าว หรือ ทะนาน สัดตวงข้าวของจีนมีทั้งแบบเหลี่ยมและแบบกลม เฉพาะการนี้ใช้แบบกลม หมายถึงจักรภพหรือสวรรค์
2.เต็งโห้ย หรือ ตะเกียง ความโชติช่วงของดวงไฟจากตะเกียงเป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างของพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาว เรียก ปักเต้าแชโห้ย
3.บี้ หรือ ข้าวสาร เป็นสัญลักษณ์แทนดวงดาวทั้งหลายในจักรวาล ธัญญาหารทั้งห้าบริบูรณ์
4.โป๊ยฉุ่นเช๊ก หรือ ไม้บรรทัด เป็นสัญลักษณ์แทน แชเหล็ง หรือ มังกรเขียว ธาตุไม้ ทั้งสี่ฤดูไม่มีภัยพิบัติ เทศกาลทั้งแปดล้วนสุขสันต์
5.ฉิ่น หรือ คันชั่ง เป็นสัญลักษณ์แทน แปะฮ้อ หรือ เสือขาว ธาตุทอง เพราะตาชั่งมีโลหะเป็นส่วนประกอบ หมายถึงความเที่ยงตรง คำว่าตราชั่งมีส่วนของคำในภาษาจีนกลางออกเสียงตรงกับคำว่า เป๋ง แปลว่าความสงบสุข จึงหมายถึงใต้หล้าสงบสุข
6.เจี๋ยนโต หรือ กรรไกร เป็นสัญลักษณ์แทน จูฉก หรือ วิหคแดง ธาตุไฟ เพราะกรรไกรเหมือนปากนก เป็นสัญลักษณ์ตัดสิ่งอัปมงคล กรรไกรยังมีความหมายถึงครอบครัว
7.เก้งจื้อ หรือ กระจกเงา เป็นสัญลักษณ์แทน เหียนบู๊ หรือ เต่าดำ ธาตุน้ำ เพราะกระจกมีสัณฐานแทนกระดองเต่า สะท้อนแสงของกระจก หมายความว่าส่องสว่างขับไล่สิ่งชั่วร้าย ความกลมของกระจกหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ พร้อมหน้า
8.ซึ้งปั๋ว หรือ ลูกคิด หมายถึงความเที่ยงตรง เที่ยงธรรม เป็นกลาง เพราะลูกคิดจะให้ผลลัพธ์เท่ากันเสมอ ทั้งยังหมายถึงกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง
9.หม่อปิ๊ด หรือ พู่กัน หมายถึงสัญลักษณ์ของการเรียน อวยพรให้การศึกษาเล่าเรียนก้าวหน้า
10.กั้นหยั่น เกี่ยม หรือ กระบี่ เป็นสัญลักษณ์อาวุธปราบมารร้าย
11.เหนี่ยวสั่ว หรือ สัปทน ร่ม เป็นสัญลักษณ์ของบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนคุ้มครองรักษา
โดยทั่วไปมักตกแต่งทะนานให้สวยงาม มีการทำป้ายเขียนนามผู้ขอพรเรียกว่า ต้าวเชียม ตั้งอยู่กลางทะนานหรือต้าว ในเมืองไทยนิยมทำป้ายมีหลังคาเป็นรูปวิมานหรือเก๋งจีนด้วยกระดาษ ข้างหน้าเก๋งยังทำรูปเทพธิดาด้วยกระดาษประดับไว้ด้วย ส่วนสิ่งของที่นำมาบรรจุลงในทะนาน ต้าว นั้น ต้องบรรจุลงในตำแหน่งต่างๆ คือ ข้าวสาร บี้ บรรจุลงภายในให้เป็นบาน
สำหรับวางสิ่งของต่างๆ ตะเกียง เต็ง จุดไว้ตลอดไม่ให้ดับ ไม้บรรทัด เช๊ก จัดวางไว้ทิศตะวันออก คือ เบื้องขวา คันชั่ง ฉิ่น วางอยู่ทิศตะวันตก คือ เบื้องซ้าย กรรไกร เจี๋ยนโต เสียบเอาด้ามขึ้นทางทิศใต้ คือ ด้านหน้า กระจกเงา เก้ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ คือ ด้านหลัง กระบี่ เกี่ยม และ ร่ม เหนี่ยวสั่ว จะปักไว้ด้านข้าง ส่วนลูกคิด ซึ้งปั๋ว และ พู่กัน หม่อปิ๊ด ก็จะวางอยู่ภายใน การจัดวางสิ่งของอาจมีแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของท้องถิ่นต่างๆ เช่น แถบฮกเกี้ยนและไต้หวัน นิยมทำป้ายชื่อผู้ขอพรหรือต้าวเชียมคล้ายป้ายชื่อหรือป้ายเข้าเฝ้า ไม่มีหลังคาเป็นรูปวิมานแต่นิยมใช้ร่มปักไว้กลางทะนาน คลุมป้ายชื่อผู้ขอพร ทั้งยังนิยมมอบให้แก่เจ้าภาพ ผู้อุปถัมภ์ศาลเจ้าหรือกรรมการพิธีกลับไปเป็นสิริมงคล
ตำแหน่งการวางเครื่องมงคลหรือทะนานประทีป
- ข้าวสาร บรรจุลงภายในให้เป็นฐานสำหรับวางสิ่งของต่าง ๆ
- ตะเกียง เติมน้ำมันจุดไฟตลอดเวลาไม่ให้ดับ
- ไม้บรรทัด วางอยู่ทางทิศตะวันออก คือ ทางขวา
- คันชั่ง วางอยู่ทางทิศตะวันตก คือ ทางซ้าย
- กรรไกร เสียบโดยเอาด้ามขึ้นทางทิศใต้ คือ ทางด้านหน้า
- กระจกเงา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ คือ ด้านหลัง
- กระบี่ และ ร่ม จะปักไว้ด้านข้าง
- ลูกคิด และ พู่กัน ก็จะวางอยู่ภายใน
http://9mahawed.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น